
ตะคร้อ ผลไม้ต้านอนุมูลอิสระ
ตะคร้อ ชื่อวิทยาศาสตร์ Schleichera oleosa (Lour.) Merr.(ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pistacia oleosa Lour., Schleichera oleosa (Lour.) Oken[1]) จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ตะคร้อ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาซ้อง คอส้ม (เลย), เคาะ (นครพนม, พิษณุโลก), ค้อ (กาญจนบุรี), เคาะจ้ก มะเคาะ มะจ้ก มะโจ้ก (ภาคเหนือ), ตะคร้อไข่ (ภาคกลาง), ซะอู่เสก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กาซ้อ คุ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปั้นรั้ว (เขมร-สุรินทร์), ปั้นโรง (เขมร-บุรีรัมย์), บักค้อ ตะค้อ หมากค้อ เป็นต้น
ลักษณะของตะคร้อ
ต้นตะคร้อ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีนและอินโดนีเซีย[3] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ เรือนยอดมีลักษณะเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านมักคดงอ ลำต้นเป็นปุ่มปมและพูพอน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหนา[1],[2] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[6] โดยสามารถพบได้ตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่ระดับความสูงถึง 1,200 เมตร
ใบอ่อนกินสดหรือนำมาลวกกินเป็นผักเคียงได้ ใบและกิ่งรวมถึงกากเมล็ดนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ เนื้อไม้นำมาทำฟืนและถ่านได้ดี แก่นไม้มีความแข็ง ทนทาน
ผลตะคร้อสุกสามารถนำมากินได้ ส่วนผลดิบสามารถนำมาทำเป็นผลไม้ดองได้เช่นกัน ผลสุกตะคร้อมีรสเปรี้ยวฝาด เหมาะแก่การนำมาทำเครื่องดื่มดับกระหายในหน้าร้อน
รวมถึงนำมาปรุงเป็นอาหารประเภทยำ และน้ำตะคร้อ สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมะนาวได้ ในฤดูร้อนซึ่งมะนาวมีราคาแพง ผลตะะคร้ออุดมไปด้วยวิตามินซีและแคลเซียม ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจน เนื้อเยื่อของเอ็นกระดูกอ่อน และยังนำมาสกัดบำรุงผม บำรุงผิวพรรณร่างกายอีกด้วย
สรรพคุณของตะคร้อ
- ราก เปลือกราก หรือทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้กษัย
- ใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ โดยใบแก่นำมาขยี้กับน้ำแล้วนำมาเช็ดตัว
- เนื้อผลเป็นยาระบาย รับประทานมากไปจะทำให้ท้องเสียได้
- เปลือกต้นเป็นยาสมานท้อง
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น) บ้างว่าใช้แก้บิด มูกเลือดได้ด้วย โดยนำเปลือกต้นมาตำกิน
- เปลือกต้นตะคร้อนำมาแช่กับน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย โดยใช้ร่วมกับเปลือกต้นมะกอก เปลือกต้นเป๋ยเบาะ เปลือกต้นตะคร้ำ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- เป็นยาแก้ริดสีดวงภายนอกและภายใน
- น้ำต้มจากเปลือกต้นตะคร้อช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือนได้ (Mahaptma and Sahoo, 2008)
- ใบใช้ตำพอกรักษาฝี
- ยาแก้ฝีในกระดูก ปอด กระเพาะ ลำไส้ ตับ และม้าม
- ใบแก่นำมาเคี้ยวให้ละเอียด ใช้ใส่แผลสดเพื่อปิดปากแผลไว้ จะช่วยห้ามเลือดได้
- ช่วยรักษาบาดแผลสดจากของมีคม ด้วยการนำเปลือกต้นบริเวณลำต้นที่วัดความสูงตามบาดแผลที่เกิด ขูดเอาเปลือกตะคร้อ นำมาผสมกับยาดำ (เส้นผม, ขนเพชร) แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล
- รากเป็นยาถอนพิษ เช่น อยากหยุดเหล้า ก็ให้นำน้ำต้มกับรากมาผสมกับเหล้าและใช้ดื่มตอนเมาจะทำให้ไม่อยากกินอีก ปริมาณการใช้เท่ากับราก 1 กำมือผู้กิน เหล้า 1 ก๊ง
- ใบใช้ปรุงเป็นยาถ่ายพิษฝี ถ่ายเส้น ถ่ายกษัย
- รากหรือเปลือกรากช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เส้นเอ็น ช่วยถ่ายฝีภายใน
- เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ฝีหนอง (ส่วนแก่นตะคร้อก็ใช้ได้เช่นกัน) (เปลือก)
- น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้นวดแก้อาการปวดไขข้อได้ (Palanuvej and Vipunngeun, 2008)
- น้ำมันจากเมล็ดตะคร้อ ช่วยแก้ผมร่วง
- น้ำมันสกัดจากเมล็ดสามารถนำมาใช้รักษาอาการคัน สิว แผลไหม้ได้ (Palanuvej and Vipunngeun, 2008)